ประวัติโรงพยาบาล

ประวัติศาสตร์โรงพยาบาลปาย 

โดยนโยบายของรัฐบาลสมัยนั้น ต้องการที่จะปรับปรุงและขยายบริการการแพทย์ และอนามัยให้ทั่วถึงประชาชนโดยเฉพาะในชนบท โดยจะเริ่มมีการก่อสร้างโรงพยาบาลระดับอำเภอ ในปี พ.ศ.2518 กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีหนังสือสั่งการมายังนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้เตรียมหาสถานที่สำหรับการก่อสร้างโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง ที่อำเภอปาย

ประวัติของโรงพยาบาลปาย ซึ่งเดิมเป็นสถานีอนามัยชั้นสอง ได้ทำให้เกิดเป็นประวัติศาสตร์ของการร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคราษฎรโดยแท้ โดยเริ่มต้นที่ที่ดินที่ใช้เป็นสถานที่สร้างโรงพยาบาลปาย จำนวนทั้งสิ้น 14 ไร่ 2 งาน 26 ตารางวา เป็นที่ดินราชพัสดุ จำนวน 7 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา และอีกส่วนหนึ่งเป็นของนางสายหยุด บุษกร ราษฎรอำเภอปาย จำนวน 7 ไร่ - งาน 61 ตารางวา บริจาคให้เป็นสถานที่ในการสร้างโรงพยาบาลปาย

โรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภอปายแห่งแรกขนาด 10 เตียงได้เริ่มก่อสร้าง ในปี พ.ศ. 2520 และเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2522   ทำให้สถานีอนามัยชั้นสองที่เคยใช้เป็นที่ดำเนินการเดิมได้เปลี่ยนไปเป็นที่ทำการของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอปายในตอนนั้นแทน

โรงพยาบาลปายในยุค 10 เตียง   

โรงพยาบาลปายเริ่มเปิดบริการประชาชนเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2522  โดยมี นายแพทย์อุกฤษฎ์   มิลินทางกูร มาเป็นผู้อำนวยการคนแรกและได้เปิดทำการอย่างเป็นทางการโดยมีพิธีทางศาสนาและเปิดป้ายอาคาร เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2523

ในระยะแรกราษฎรส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าโรงพยาบาลปายเปิดบริการแล้วจึงไม่ค่อยมีประชาชนมารับบริการมากนัก จึงต้องประชาสัมพันธ์ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในวันประชุมประจำเดือนของอำเภอทุกเดือน หลังจากนั้นประชาชนก็เริ่มรู้จักโรงพยาบาลปายมากขึ้น

ในปี พ.ศ. 2528   นายแพทย์อุกฤษฎ์ มิลินทางกูร ได้โยกย้ายไปปฏิบัติราชการที่โรงพยาบาลยุพราชตะพานหิน จังหวัดพิจิตรโดยมีนายแพทย์อนุรักษ์ อมรเพชรสถาพร ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลปายแทน

ในปี พ.ศ. 2531  นายแพทย์อนุรักษ์ อมรเพชรสถาพร ซึ่งได้ลาศึกษาต่อ โดย นายแพทย์จรินทร์

อัศวหาญฤทธิ์  ย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลปายแทน

ในปี พ.ศ. 2532    นายแพทย์จรินทร์ อัศวหาญฤทธิ์  ได้โยกย้ายไป โดยมีนายแพทย์สมชาย ลี่ทองอิน มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลปายแทน

  โรงพยาบาลปาย  ยุค 30 เตียง  

จากการขยายตัวของชุมชนอำเภอปายทำให้มีผู้มาใช้บริการมากขึ้น ประกอบกับโรงพยาบาลปายอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ในปีงบประมาณ 2533 จึงได้ขยายโรงพยาบาลให้เป็นขนาด 30 เตียง     ได้ดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2533 การก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2535  และได้ทำพิธีทำบุญเปิดอาคารอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4  กรกฎาคม 2535

ในปีพ.ศ. 2538  นายแพทย์สมชาย   ลี่ทองอิน ได้ขอโยกย้ายไปปฏิบัติราชการที่กรุงเทพมหานคร  โดยมีนายแพทย์วรเชษฐ์  เต๋ชะรัก มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลปายแทน โดยในช่วงนั้นได้มีการนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในงานบริการของโรงพยาบาลปายเป็นครั้งแรก

ในปี พ.ศ. 2540 นายแพทย์วรเชษฐ์   เต๋ชะรักษ์ ได้ขอลาไปศึกษาต่อ ในภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี นายแพทย์ พิทยา  เหล่ารักพงษ์ ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลปายแทน

ในปี พ.ศ. 2541 นายแพทย์ พิทยา  เหล่ารักพงษ์ ได้ขอย้ายไปปฏิบัติราชการที่กรมควบคุมโรคติดต่อ โดยมีแพทย์หญิงปัฐมลักษณ์   เผือกผ่อง มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลปายแทน  ในช่วงนั้นโรงพยาบาลได้รับงบประมาณสนับสนุนในการสร้างตึกผู้ป่วยในขนาด 30 เตียงอีก 1 หลัง และได้ขยายเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง และได้มีการนำกิจกรรม 5 ส มาดำเนินการในโรงพยาบาลปายเป็นครั้งแรก

ในปี พ.ศ. 2542  แพทย์หญิงปัฐมลักษณ์   เผือกผ่อง ได้ขอลาศึกษาต่อ ในภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี นายแพทย์สุเมธ   องค์วรรณดี มาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลปายแทน โดยย้ายมาจากโรงพยาบาลขุนยวม

ในช่วงที่นายแพทย์ สุเมธ องค์วรรณดี ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลปาย ได้มีการจัดผ้าป่าสามัคคีหารายได้เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2543 ได้เงินบริจาคจำนวนประมาณ 400,000 บาท และได้มีจัดทำแผนพัฒนาโรงพยาบาลอย่างเป็นรูปธรรมโดยมีการระดมสมองจากเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงาน มีการวิเคราะห์องค์กร จัดทำวิสัยทัศน์ พันธกิจของโรงพยาบาลเป็นครั้งแรก มีการดำเนินงานกิจกรรม 5 ส อย่างจริงจัง มีการจัดอบรมการพัฒนาองค์กรและพฤติกรรมบริการสู่ความเป็นเลิศ มีการไปศึกษาดูงานการพัฒนาคุณภาพ ISO 9002  และมีการเริ่มดำเนินงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ในปี พ.ศ. 2543 ต่อมามีการนำระบบการพัฒนาคุณภาพบริการ ISO 9002 มาใช้ในโรงพยาบาลแต่เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณในการประเมินข้อกำหนดจึงไม่ได้มีการประเมินรับรอง และได้มีการทำประชาพิจารณ์ในโรงพยาบาลจนได้ข้อสรุปว่าจะนำรูปแบบการพัฒนาคุณภาพบริการ HA มาใช้ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ในช่วงนั้นยังมีเจ้าหน้าที่ที่เข้าใจ HA น้อยมาก การดำเนินงานในช่วงแรกจึงยังไม่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร

 โรงพยาบาลยุค 60 เตียง

ในปี พ.ศ. 2545  นายแพทย์ สุเมธ องค์วรรณดี ได้ขอลาศึกษาต่อในสาขาเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี พญ.ประณมพร ศิริภักดี มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลแทน ได้พัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล จนได้รับการประเมินในขั้น 1 และ 2 ตามลำดับ

ปี 2551   พญ.ประณมพร ศิริภักดี ได้ย้ายไปประจำที่รพ.เฉลิมพระเกียรติวัดจันทร์ อ.แม่จันทร์ จ.เชียงใหม่ โดยมีนพ.สราวุธ สุพรรณพิทักษ์ ศัลยแพทย์ชำนาญการพิเศษมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล ได้ฟื้นฟูการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลอีกครั้ง โดยการนำมาตรฐาน HA & HPH มาตรฐาน 5 ส มาพัฒนาจนสามารถรับการประเมินและรับรองคุณภาพได้ รวมทั้งการขยายผลการพัฒนาต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาลปลอดบุหรี่ 100 % งานเลี้ยงปลอดเหล้า ถนนปลอดบุหรี่ โรงพยาบาล 3 S มาตรฐาน Healthy work place การพัฒนางานด้านเยาวชนโดยใช้เสียงดนตรีเป็นสื่อ “ เอาดนตรีมาคุยกัน ” จนสามารถสร้างชื่อเสียงการพัฒนางานด้านเยาวชนจนเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ชื่นชม เป็น Good Practice ของสสส. การขยายเครือข่ายพันธมิตรต่าง เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาโรงพยาบาล  PHSB & Pai Healthy System board มูลนิธิมาตินัชสติชติ้ง จากประเทศเนเธอร์แลนด์ โดย Mr.Weil Palman รวมทั้งการจัดให้มีหน่วยงานกายภาพบำบัด โดยใช้งบประมาณการจัดซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ จากการทอดผ้าป่าสามัคคี ( 2 ล้าน )โดยประชาชนอำเภอปายมีส่วนร่วม การจัดทอดผ้าป่าสามัคคี ( ล้านกว่า ) ในการสร้างตึกสงฆ์อาพาธ กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ( เริ่มสร้างกันยายน 54 ) ยังไม่แล้วเสร็จ

ปี 2553 พฤศจิกายน นพ.สราวุธ สุพรรณพิทักษ์ ได้ย้ายไปที่รพ.ดอยสะเก็ด อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ โดยมีนพ.วรัญญู จำนงประสาทพร ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลแทน ได้นำนโยบายการสวมหมวกนิรภัยมาใช้อย่างจริงจัง 100 % , การพัฒนาในเรื่องของงานอาชีวอนามัยให้อยู่ในระดับ 5 ,การพัฒนาโรงพยาบาล 3 S ให้ธำรงรักษาอยู่ในระดับ The best, โรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพ HPH จากกรมอนามัย รวมทั้งเหตุการณ์ประวัติศาสตร์โรงพยาบาลปายในการส่งต่อที่ไกลที่สุดในรอบ 31 ปี คือส่งต่อผู้ป่วย S/P Craniotomy ไปยังบ้านเกิดคือจังหวัดนครศรีธรรมราช ด้วยระยะทาง 3,500 กม.ใช้เวลาในเดินทางไปกลับ 5 วัน

ปี 2554 นพ.วรัญญู จำนงประสาทพร ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการที่รพ.แม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีนพ.สุวิชา  จียะพันธุ์ เป็นผู้อำนวยการแทน จนถึงปัจจุบัน

ปี 2555 โรงพยาบาลปายภายใต้การนำของนพ.สุวิชชา จียะพันธุ์ ได้มีการพัฒนาคุณภาพกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าการพัฒนาด้านการดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพมากขึ้น การพัฒนาภูมิสถาปัตย์ให้สวยงามและมีความปลอดภัย การจัดพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ & เพื่อการเยียวยา เปิดบ้านเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับโรงพยาบาลคุณภาพ ทำให้โรงพยาบาลปายได้รับการรับรองคุณภาพ Re Accreditation ครั้งที่ 1 ในวันที่ 24 ก.พ.2555 จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล องค์การมหาชน รวมทั้งการสร้างตึกสงฆ์ - เปิดตึกสงฆ์อาพาธราชรัฐบำรุง อย่างเป็นทางการในวันที่ 14 พ.ค.55 โดยมีนพ.สสจ.นพ.ไพศาล ธัญญาวินิชกุล เป็นประธานในการเปิด การทอดผ้าป่าโดยการนำของเจ้าคณะอำเภอ พระมหาศุภเมธี ได้นำเงินจำนวน 400,000 ร่วมกับเงินบริจาคของประชาชนอำเภอปายจำนวนหนึ่งเตรียมความพร้อมในการรองรับหน่วยไตเทียมและหน่วยดูแลผู้ป่วยวิกฤติ

ปี 2556 นพ.สุวิชชา จียะพันธุ์ ได้ย้ายไปปฏิบัติงานที่รพ.แม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีพญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู มาเป็นผู้อำนวยการแทน

รพ.ปายได้พัฒนาคุณภาพมาอย่างต่อเนื่องและมีอายุรแพทย์มาประจำ นพ.สืบสกุล ต๊ะปัญญา ทำให้มีการพัฒนาและวางระบบการให้บริการผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างเป็นระบบ และได้รับการรับรองเป็นโรงพยาบาล NCD คุณภาพ ในปี 2557 มีการพัฒนางานด้านชันสูตรอย่างต่อเนื่องและได้รับการรับรองมาตรฐาน LA จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในปี 2558 การพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน HA & HPH ยังดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการรับรอง Re accreditation ในปี 2558 และมีการนำโครงการหมอครอบครัวมาใช้ในรพ.

ประวัติการพัฒนาคุณภาพ

โรงพยาบาลปายได้มีการพัฒนาคุณภาพบริการมาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับเกียรติบัตรการพัฒนาคุณภาพดังนี้

ปี 2548 ได้รับเกียรติบัตรการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล  บันไดขั้นที่ 1 จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาลองค์การมหาชน

ปี 2549 ได้รับเกียรติบัตรการเข้าสู่กระบวนการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ จากกรมอนามัย

ปี 2551  ได้รับเกียรติบัตรการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล  บันไดขั้นที่ 2 จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาลองค์การมหาชน

ปี 2553 ได้รับเกียรติบัตรการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล  บันไดขั้นที่ 3 HA & HPH  จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาลองค์การมหาชน

ได้รับใบประกาศเกียรติคุณ 5 ส จากสถาบันฝึกอบรมพัฒนกรณ์

ได้รับเกียรติบัตรผ่านการรับรองกระบวนการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ จากกรมอนามัย

ได้รับเกียรติบัตรโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ 100 % จากสสส.

ได้รับรางวัลคุณภาพสถานบริการ รายกระบวนงาน ชมเชย จากกพร.

มาตรฐานโรงพยาบาล 3 S The Best

เหตุการณ์สำคัญ การส่งต่อผู้ป่วย S/P Craniotomy ไปรับการรักษา ฟื้นฟูสภาพที่บ้านเกิด จ.นครศรีธรรมราช ด้วยระยะทางประมาณ 3,500 กม.ใช้เวลาในการเดินทางไปกลับ 5 วัน

ปี 2554 ได้รับเกียรติบัตรการรับรองด้านงานอาชีวอนามัย ระดับ 5

ได้รับเกียรติบัตรการจัดการความรู้ทางด้านงานเบาหวาน ความดัน ระดับเขต

มาตรฐานโรงพยาบาล 3 S The Best

มาตรฐาน HPH ของกรมอนามัย

ปี 2555 การได้รับการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล Re Accreditation ครั้งที่ 1 จากสถาบันรับรองคุณภาพ

สถานพยาบาล องค์การมหาชน

รพ.สายใยรักแห่งครอบครัว

ปี 2556 มาตรฐาน HPH Plus ของกรมอนามัย

ปี 2557 มาตรฐานอาชีวอนามัย Plus

NCD คุณภาพ

ปี 2558 การได้รับการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล Re Accreditation ครั้งที่ 2 จากสถาบันรับรองคุณภาพ

สถานพยาบาล องค์การมหาชน

มาตรฐาน LA จากกรมวิทยาศาสต์การแพทย์